ที่มาของชุมชนขนาบนาก

ตำบลขนาบนาก ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอปากพนัง ติดกับชายฝั่งอ่าวไทย ประกอบด้วย 10 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 1 บ้านขนาบนาก หมู่ที่ 2 บ้านป่าขลู หมู่ที่ 3 บ้านบางวุน หมู่ที่ 4 บ้านท่านา หมู่ที่ 5 บ้านปากช่อง หมู่ที่ 6 บ้านบางอุดม หมู่ที่ 7 บ้านสระศรีเมือง หมู่ที่ 8 บ้านบางตะลุมพอ หมู่ที่ 9 บ้านนำทรัพย์ หมู่ที่ 10 บ้านหน้าโกฎิ ประชากรส่วนใหญ่ มีอาชีพทำน้ำตาลจาก โดยกระจัดกระจายไปตามชุมชนใหญ่

ขอบเขตตำบลขนาบนาก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช
ที่มาของภาพ:: งานวิจัยเรื่องป่าจาก: ทรัพยากรทางธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนขนาบนาก จังหวัดนครศรีธรรมราช
เขียนโดย : อรอนงค์ เฉียบแหลม

ลักษณะนิเวศที่สำคัญของชุมชนขนาบนาก มี 3 ลักษณะ

ลักษณะที่ 1 น้ำจืด เป็นระบบนิเวศที่มีผลต่อการผลิตของชุมชน ส่งผลให้การทำนาเป็นอาชีพหลักของชุมชน ในอดีตชุมชนขนาบนากเป็นทุ่งนากว้างใหญ่ ทุกหมู่บ้านในชุมชนมีการทำนาข้าว เช่น ชุมชนบางตะหลุมพอ บ้านบ่อคณฑี ซึ่งตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับอ่าวไทย สามารถปลูกข้าวได้เป็นจำนวนมาก ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศทำให้ชุมชนมีคำพูดติดปากเป็นเสียงเดียวกันในฤดูกาลเก็บเกี่ยวว่า “ข้าวเต็มทุ่ง”

ลักษณะที่ 2 น้ำกร่อย เป็นระบบนิเวศที่สำคัญอีกระบบหนึ่งของชุมชน มีลักษณะเป็นพื้นที่ป่าชายเลนที่มีต้นจากขึ้นอยู่หนาแน่น ดังนั้นการทำ “น้ำผึ้งจาก” เป็นอาชีพรองของชุมชนที่ควบคู่มากับการทำนากว่า 200 ปี ขนาบนากมีลำคลองใหญ่ที่แยกจากแม่น้ำปากพนังไหลผ่านชุมชน คือ คลองหัวไทร พร้อมกับมีคลองเล็กคลองน้อยแยกกระจายตัวไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ อีก 4 ลำคลอง เช่น คลองบางตำเนก คลองปากช่อง คลองบางหรง คลองตะหลุุมพอ ลำคลองน้อยใหญ่เหล่านี้ทำให้ชุมชนสามารถทำประมงน้ำกร่อยได้เป็นอย่างดี

ลักษณะที่ 3 น้ำเค็ม เป็นระบบนิเวศที่มีน้ำเป็นน้ำเค็ม เป็นบริเวณที่อยู่กึ่งกลาง มีน้ำขึ้นน้ำลง สิ่งมีชีวิตต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ


ชุมชนขนาบนาก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีตำนานเล่าว่า ที่มาของชื่อ “ขนาบนาก” นั้น มีการรับข้อความและตีความและสื่อสารต่อ ๆ กันมายังรุ่นต่อรุ่น ซึ่งมีทั้งหมด 3 ตำนาน ดังนี้

เรื่องเล่าที่ 1 เล่าว่า เดิมทีนั้นพื้นที่ชุมชนเป็นป่ารกร้างว่างเปล่า มีครอบครัว ๆ หนึ่ง มีหัวหน้าครอบครัวชื่อ “นาก” ได้เข้าไปสร้างที่อยู่อาศัย “ขนำ” อยู่เพื่อทำน้ำตาลจาก เมื่อมีคนเดินผ่านไปผ่านมา จึงได้ตั้งชื่อว่า “ขนำนาก” และเรียกเพี้ยนกันมาเป็น “ขนาบนาก” มาถึงปัจจุบัน
เรื่องเล่าที่ 2 เล่าว่า บริเวณที่ตั้งวัดขนาบนากในปัจจุบัน ในอดีตนั้น มีลักษณะเป็นเกาะ ป่า ไม่มีบ้านคนอาศัยอยู่ เป็นป่าซึ่งมีร่มเงาใช้สำหรับเป็นที่พัก ของคนที่เดินทางผ่านไปผ่านมา ทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นจุดหยุดพักสำคัญ ใช้เป็นจุดหยุดพักของ “นาค” ที่ต้องเดินทางไกลลัดทุ่งนาจากชุมชนต่าง ๆ เพื่อบวชตามคตินิยมยังวัดบางพระซึ่งเป็นวัดสำคัญในชุมชนสมัยนั้น ทำให้มีการสร้าง “ขนำ” เพื่อเป็นที่พักชั่วคราว การมาพักของ “นาค” เกิดขึ้นเป็นประจำ ดังนั้นจึงมีคนเรียกพื้นที่บริเวณนั้นว่า “หนำนาค” และเรียกเพี้ยนมาเป็น “ขนาบนาก” จนถึงปัจจุบัน
เรื่องเล่าที่ 3 เป็นตำนานที่มีความสัมพันธ์กับ “พระนางเลือดขาว” หรือแม่เจ้าอยู่หัว ซึ่งกล่าวถึงพิธีการอัญเชิญพระศพของพระนาง โดยทางเรือมาจากเมืองนครศรีธรรมราช ผ่านมาทางแม่น้ำปากพนัง เมื่อผ่านบริเวณขนาบนาก ปรากฎว่ามีพญานาค 2 ตัว ประกอบทั้งสองข้างของลำเรือที่บรรทุกพระศพของพระนางเลือดขาว บริเวณนี้จึงได้ชื่อว่า ชุมชนขนาบนาก นับตั้งแต่นั้นมา
ที่มาของข้อมูล :: องค์การบริหารส่วนตำบลขนาบนาก